Thursday, October 30, 2008

คำตอบ ของคำถามที่ไม่มีคำตอบ

นี่คือภาคต่อของสัญญาณประเทศไทย
นี่อาจจะเป็นงานพล่ามที่ยาว
และดูเหมือนจะจริงจังเกินไปมากมาย



ผมมีเรื่องเล่าที่เกี่ยวบ้างไม่เกี่ยวบ้าง
แต่สำหรับผมเรื่องเล่าเหล่านี้
ปะติดปะต่อกัน
จนเป็นสิ่งที่ผมคิดที่ผมรู้สึกตอนนี้


เรื่องที่หนึ่ง



ทุกๆเช้า
ผมตื่นประมาณตีห้า

ทำพิธีทางศาสนา
อ่านหนังสือธรรมมะ

ประมาณหกโมงก็ออกไปทำงาน
โดยแวะออกกำลังกายก่อน
ประมาณแปดโมงก็ถึงที่ทำงาน
ทานข้าวเช้า แล้วก็อ่านหนังสือพิมพ์

ที่ออฟฟิศรับหนังสือพิมพ์หลายฉบับ
ผมเลือกอ่านมติชน กับ Daily Express(อันนี้แจกฟรี)
บางครั้งเปิดดู Bangkok Post บ้าง
อ่านหนังสือพิมพ์แบบเล่มเสร็จ
ก็เปิดเข้า ผู้จัดการออนไลน์ และก็กรุงเทพธุรกิจ

กิจกรรมทั้งหมดถือเป็นงานส่วนหนึ่งด้วย
เพราะปรัชญาการทำงานที่เราตกลงกันใว้คือ
ใช้ชีวิตที่ทำงานให้เหมือนอยู่บ้าน(แต่งานต้องเสร็จ)
เพราะเวลาส่วนใหญ่มันเกิดที่ทำงาน

แล้วผมก็ทำงานทำการของผมไป

ส่วนมากงานในตอนเช้าคือการถกเถียงเรื่องการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเกี่ยวกับการงาน
บ่ายก็ทำงานเกี่ยวกับงานด้านเทคนิค
จนเลิกงาน

ผมก็ฟังรายการที่เติมศักดิ์จัด
เพื่อฟังอารมณ์ พธม ต่อเรื่องต่างๆ

กลับถึงบ้าน
อ่านหนังสือ เน้นหนังสืออ่านเล่น
แล้วประมาณสองทุ่มก็นอน

ผมพยายามไม่ดูทีวี
เพราะไม่อยากฟังข่าว
ผมไม่อยากเสียเวลากับการดูละคร
มีบางรายการที่ผมติดตามดู
เช่น Man Vs Wild ทางช่อง Discovery
รายการท่องเที่ยวบางรายการ

ผมเชื่อของผมเองว่า
ถ้าผมเอาตัวเองออกมาจากอารมณ์ของความขัดแย้ง
แล้วจับตามองมันด้วย สติ ที่ปราศจากสิ่งเร้า
เราจะจับ ความรู้สึก นึกคิด ของเราได้ง่ายขึ้น
เราก็อาจจะเห็นอะไรบางอย่างที่ชัดเจนขึ้น



เรื่องที่สอง

มีคอลัมน์ในมติชนที่ผมชอบอ่าน
เรียงคนมาเป็นข่าว ก้างตำคอ และก็
เหยี่ยวถลาลม เป็นของวันอังคาร พุธ และก็พฤหัส
โดยเฉพาะคอลัมน์วันพฤหัสนี้





ต้นทุนของการออกมาคิดอะไรดังๆ
มีอะไรบ้าง

ทำไม พธม ต้องสร้างราคาที่ต้องจ่ายให้คนอื่นสูงขนาดนี้
ผมเห็นด้วยอย่างมากกับบทความของ อ นิธิ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา
แต่ พธม ก็แสดงอาการของ ไม่ฟังใคร จนชัดเกินไป

สำหรับผม โดยส่วนตัว
ผมไม่ชอบคนที่ไม่ฟังคนอื่นเลย
เพราะสมัยหนึ่ง ทักษิณก็เป็นอย่างนี้
ตอนนี้ สนธิ ต่างกันตรงไหน


เรื่องที่สาม

วันก่อนโน้น
ผมอ่านหนังสือที่จิระนันท์ เขียนเรื่องที่เขาเข้าป่า
มีอยู่ตอนหนึ่งที่เขาเล่า กระบวนการ จัดตั้ง แบบคอมมิวนิสต์
(แน่นอนทำให้เราเข้าใจหมอเหวงมากขึ้นด้วย ฮา)

ผมพยายามยัดเยียดหนังสือเล่มนี้ให้เพื่อนสนิท
ที่ไปร่วมประท้วงกับ พธม ทุกวันได้อ่าน

พร้อมทั้งสำทับไปว่า
เราว่ามันเหมือนกันมากๆ

พร้อมทั้งเลยเถิดไปสู่ประเด็นง่ายๆ
พธม นปช แตกต่างอย่างไรก็ ธรรมกาย
อุปทานหมู่ มีผลขนาดไหน

เพื่อนตอบว่า ต่างกันมากมาย
เพราะธรรมกาย ทำเพื่อตัวเอง
แต่ พธม ทำเพื่อคนอื่น

ผมถามกลับไปว่า
แล้วถ้าคนอื่นๆที่ว่านั้นบอกว่า
ไม่ต้องมาทำเพื่อกู
กูชอบของกูแบบนี้
เอ็งจะบอกเขาว่าอย่างไร



เมื่อวานซืน
อ่านหนังสือของบินหลา
ที่ชื่อ ภู มี ศาสตร์
มีอยู่ตอนหนึ่ง
ที่เขียนเรื่องสงคราม ของทหารรับจ้าง
ที่ชื่อ จำลอง ศรีเมือง
ในนั้นมีทั้งข้อมูลจากฝ่ายชนะ และฝ่ายพ่ายแพ้

ผมบอกกับตัวเองว่า
คนบางคน อาจจะไม่เคยเปลี่ยน
ทันทีที่นักข่าวถามเรื่องนักวิชาการคือ
"เขาเหล่านั้น มาต่อสู้แบบพวกผมหรือเปล่า
เขาเหล่านั้น เคยทำอะไรให้สังคมบ้าง"



กับประเด็นความรุนแรง เขาก็ตอบว่า
"พวกผมรุนแรงตรงไหน อหิงสา"
อหิงสา ไม่ได้แปลว่าทำอะไรตามอำเภอใจก็ได้
ตามปรัชญาของความรุนแรงในหนังสือสันติวิธีเล่มไหนก็ตามบอกว่า
กระบวนการความรุนแรงมันมาจากสองฝ่ายเสมอ
ถ้ามี พธม อย่างเดียว ไม่มี นปช ไม่มีตำรวจ
ความรุนแรงก็ไม่มี

ประเด็นนี้ก็พันกลับไปเรื่องเดิม
ถ้าวันนั้น พธม ไม่เคลื่อนไปปิดล้อม
ความรุนแรงอาจจะไม่เกิด

ตำรวจผิด อันนี้ไม่ต้องโต้เถียง
แต่คนที่สร้างโอกาสให้เกิดการประจันหน้า
นำปัญหาสู่ทางเลือกนั้น
ก็ทำไม่ถูก



เรื่องที่สี่

ในวงสนทนาครั้งหนึ่ง
รุ่นพี่ถามเราว่า
ทำไมสิงคโปร์จึงพัฒนา
ประเทศเขามีการโกงกันไม๊

แล้วจีนละ ทำไมถึงพัฒนาได้
ก็เห็นเผด็จการมากๆ

ตัวผมเองตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้หรอก
ถ้าตอบก็ตอบแบบทั่วๆไป
คนมันต่างกัน
การศึกษาไม่เหมือนกัน
ซึ่งฟังดูนามธรรมมากๆ

แต่จากประสบการณ์ที่เจอ
นั่นคือ คำตอบจริงๆ

ผมพยายามสังเกตจากเพื่อนร่วมงานชาติต่างๆ
สิงคโปร์ มาเลย์ ฝรั่งจากยุโรป
ฝรั่งจากออสเตรเลีย คนเวียดนาม คนอินเดีย
สังเกตและตั้งคำถามกับตัวเองว่า
เขามีอะไรที่ต่างจากเรา
อะไรคือข้อดีของเขา
อะไรคือข้อเสียของเขา
แล้วอะไรคือข้อดีที่เรามีและข้อด้อยที่เราต้องแก้ไข

คงจะจำความเหล่านี้ได้

หลังสงครามโลก
ญีปุ่นที่ยากจน อย่างมาก
กลายมาเป็นญี่ปุ่นในวันนี้
(และกำลังจะกลับไปยากจน ฮา)

ตอนเราเด็กๆ
มาเลเซีย ก็เป็นประเทศที่ไม่มีอะไรเลย
แต่ทุกวันนี้ คนแถวๆบ้าน
ต้องส่งลูกๆไปเรียนที่มาเลเซีย

ยังไม่นับเกาหลีใต้
ที่สมัยเด็ก เราต้องให้ความช่วยเหลือเขา
มาถึงตอนนี้ น่าจะต้องกลับกัน

ตอนเด็กๆ อินโด ฟิลลิปปินส์ เจริญมาก
ถึงตอนนี้ ก็ยากจนแบบที่เราๆรู้กัน

ถ้าคำตอบทั้งหมดนี้คือ
ความผิดอยู่ที่นักการเมือง

ผมว่า คนตอบ
คงต้องทำการบ้านใหม่

ประเทศไทย
มีประชากรมากติดอันดับท๊อปเทนของโลกนี้
จีน อินเดีย .... นำมา แล้วเราก็ไล่หลังมาไม่ไกล

เราต้องถามตัวเองให้หนักๆว่า
ทำไมเราถึงล้าหลังขนาดนี้

เรามีคำตอบห่วยๆว่า
ก็คนประเทศนี้มันห่วย

เราไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ความเป็นมืออาชีพ
ในทุกๆวงการ
ในทุกๆส่วนของสังคม
เราพูดถึงกันแต่สิทธิ แต่มักลืมหน้าที่
เราจึงแย่ลง แย่ลง และแย่ลง

ผมเคยพูดกับหัวหน้าว่า
เราทำอะไรกับวงการของเรา
ทำไมคนเก่งๆในรุ่นอายุ 40 มีประมาณ 3-4 คน
ทั้งๆที่แต่ละปีเราผลิตคนมารับใช้วงการเป็นหมื่นๆ

เรามีวิศวกรที่เป็นมือาชีพกี่คน
เรามีสถาปนิกที่เป็นมืออาชีพกี่คน
เรามีนักบริหารที่เป็นมืออาชีพกี่คน
เรามีหมอที่เป็นมืออาชีพกี่คน

คำว่าเป็นมืออาชีพ
ไม่ได้แปลแค่ว่าคุณประกอบอาชีพเหล่านั้นได้
แต่คุณต้องมีทักษะ ความเชี่ยวชาญ ความพร้อม
และทุกๆด้าน ที่วิชาชีพนั่นเรียกร้อง

ถ้าคุณเป็นวิศวกรที่ไม่เคยอ่านหนังสือวิชาการใหม่ๆ
คุณก็ไม่มีทางไปสู่ความเป็นมืออาชีพได้

ถ้าคุณเป็นสถาปนิกที่คิดจะทำงานที่เหมือนๆเดิม
คุณก็ไม่มีทางจะเป็นมืออาชีพได้

ถ้าคุณเป็นหมอที่คิดจะรักษาไปวันๆ
คุณก็ไม่มีทางเป็นมืออาชีพ

ผมรู้ว่าความคิดแบบนี้มันตื้นเขิน
และเบาปัญญา

แต่เรายังหาคำตอบที่ฉลาดว่านี้ไม่ได้จริงๆ


เรื่องที่ ห้า

เดือนที่แล้วผมกลับบ้าน
ระหว่างที่อยู่ที่บ้าน
เห็นโทรศัพท์พี่ชายดังบ่อยมาก
จับความจากการแอบฟังได้ว่า
ท่านนายผู้มีอำจาจ ต้องการให้เบิกงวดงาน

หลังการสืบข้อมูลภายในครอบครัว
ได้ความว่า
พี่ชายได้งานรับเหมาทำถนน
โดยทั้งนี้ต้องจ่าย 70%
ได้ฟังดังนั้น ตกใจมาก
แล้วมันจะเหลืออะไร

สืบข่าวต่อไปว่า แล้วผู้มีอำนาจเป็นใครมาจากไหน
ทำไมเรียกเกินมาตรฐานขนาดนี้
คำตอบคือ นามสกุล ใหญ่โตในภาคใต้
อนาคตคงได้รับ มรดก เป็นตำแหน่ง สส แน่นอน

กลับมาจากที่บ้าน
เลขาโครงการแจ้งว่า
เรื่องเบิกงวดของบริษัทยังไม่รับการเซ้นต์ออกมา
เหตุผลคือ ซองที่แนบไปกับเอกสารเบิกงวดนั้น
ท่านผู้มีอำนาจลงนาม บอกว่ามันบางไป

ผมก็โวยว่า
ก็งานนี้เราจ่ายเหมารวมไปหมดแล้วนิ
ทำไมมาเรียกเพิ่มอีก

ไม่มีคำตอบจากนรก


อาทิตย์ที่แล้ว
บริษัทนำผู้หลักผู้ใหญ่ไปดูงานที่เมืองนอก
ไปถึงสวิสปุ๊ป ท่านก็ขอซื้อโรแล็กซ์ราคาหลายแสน
ดูมันทำ
พอทานข้าว ขอไวน์ขวดละแสน
ดูมันทำ


วันก่อนโน้น
เราดูสัมภาษณ์ ทหารใหญ่มาก คนที่แล้ว
ผมสนใจบ้านของเขามากๆ
มันใหญ่โตมากๆ
ก็เกิดความสงสัยว่า
ด้วยเงินเดือนข้าราชการ
รวมกับตำแหน่งบอร์ดของ รัฐวิสาหกิจต่างๆ
สามารถทำให้คนมีเงินและมีทัพย์สินขนาดนี้ได้ไง

ทั้งหมดนี้ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า
ไอ้คนที่พร้อมจะเอาผลประโยชณ์
เอารัดเอาเปรียบ หรือสุดท้ายคือ โกง
มันเต็มประเทศสยาม

เป็นกันตั้งแต่ อบต อบจ
ข้าราชการชั้นผู้น้อย
ข้าราชการชั้นผู้กลาง
ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
รวมไปถึงนักการเมือง

นี่ยังไม่ช่ายความน่ากลัวทั้งหมด


เพราะความน่ากลัวกว่าคือ
กระบวนการคอรัปชัน ในเอกชน
มันมหาศาลกว่าในกระบวนการราชการเยอะ
ประมาณว่า ที่เห็นในราชการนะ คือภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นแหละ

นั่นแปลว่า
การจะโค่นคนที่คิดแบบทักษิณนะ
อาจจะไล่คนออกจากประเทศนี้ ครึ่งประเทศ



เรื่องที่ หก

ผมเชื่อว่า เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เกี่ยวข้องกัน

คนใต้ได้ราคายางกิโลละร้อยบาท
กรีดยางหนึ่งอาทิตย์
ประท้วงหนึ่งอาทิตย์

สบายๆ

พอราคายางเหลือ 3 โลร้อย
อาจจะมีอะไรเปลี่ยนไป

เมื่อเศรษฐกิจส่วนตัวดี
เราก็จะพยายามสร้างสังคมที่ดี
และสังคมที่ดี ก็สร้างนักการเมืองที่ดี


นี่คือถามตอบของเรื่องที่ไม่มีคำตอบ
เรื่องทุกเรื่องในมันซับซ้อน
ก็มักมีคำตอบแนวๆนี้แหละ

ถามอย่าง
ตอบอย่าง

Wednesday, October 29, 2008

เหลือง แดง เขียว ... สัญญาณ ประเทศไทย

เรามีทางเลือกอะไรบ้าง
ที่เราทำได้
แล้วมันดีกับประเทศ
ดีกับสังคม
ดีต่อเพื่อนมนุษย์

อย่างแรกที่คิดออกคือ
ไปร่วมประท้วงกับพันธมิตร

สมัยก่อนผมมั่นใจมากว่ามันน่าจะแก้ปัญหาได้
แต่ตอนนี้ไม่รู้สึกแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว

ผมกลับรู้สึกว่า
ทางเลือกนี้มันคือการแก้ปัญหาจากภายนอก
คือการชี้นิ้วออกไป แล้วบอกว่าเอ็งผิด
เอ็งต้องแก้ไข เอ็งต้องเปลี่ยน
โน่น นี่ นั่น เยอะไปหมด

แล้วบรรดาสิ่งมีชีวิตที่ถูกชี้นิ้วต่อว่า
ก็มีข้อโต้แย้ง ฟังขึ้นและฟังไม่เข้าหู ปนเปกันไป
ท้ายที่สุด ก็กลายเป็นสงครามวาทะ
โต้กันไปโต้กันมา
จนทุกคนงงว่า
เราเถียงกันเรื่องอะไร

หลังจากหายงง
ผมก็ตระหนักว่า
ปัญหาของประเทศเรา
มันอยู่ที่คน
และนั่นก็หมายถึง
อยู่ที่ตัวผมเองด้วย

ผมจึงเริ่มกลับมามองว่า
เราต้องเริ่มแก้ปัญหาจากภายในตัวเราเองก่อน
เช่น เราซื่อสัตย์หรือยัง
เวลาเห็นคนรอบๆตัว ไม่ซื่อสัตย์เราทำยังไง
เรามีศีลธรรมอยู่ในระดับไหน
เวลาเห็นคนใกล้ๆตัวทำอะไรที่ผึดศีลธรรม
เราจัดการยังไง

นั่นคือนามธรรมที่ผมคิด
แล้วผมก็นำนามธรรมนั่นมาสู่การปฎิบัติ
เช่น ผมมาทำงานแต่เช้า
เพราะในข้อตกลงกับบริษัท
ผมตกลงเวลาทำงาน 8.00 -17.00 น.
เพื่อนร่วมงานที่ยังมาทำงานสาย
ผมก็พยายามพูดคุย เพื่อให้เขาปรับตัว
ถ้าไม่ได้ตามนั้น อย่าน้อยก็ต้องทำงาน 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

หากผมพบหรือเห็นความไม่ยุติธรรมในบริษัท
ผมก็พยายามต่อสู้ เข้าไปคุยกับเอ็มดี คุยกับหัวหน้า
หาทางแก้ปัญหา

และเนื่องด้วยงานของผมส่วนใหญ่
คืองานขนส่งมวลชนขนาดใหญ่
ซึ่งมีผลกระทบกับประชาชน
และเป็นถุงเงินถุงทองของนักการเมือง
และข้าราชการโกงกิน

สิ่งที่ผมทำได้คือ
พยายามปกป้องผลประโยชณ์ของประชาชน
กล้าที่จะโต้เถียงในที่ประชุม
โดยใช้เหตุผลง่ายๆ ว่าทั้งหมดนี้มันคือภาษีของพี่น้องของผม
ทุกคนต้องทำสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับประเทศผมเท่านั้น
ผมไม่ยอมประณีประนอม

ล่าสุดบริษัทได้โครงการใหม่ ราคาดีบาท
ต้นทุนทำงานจริงๆประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
จ่ายนักการเมืองไปแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์
ผมเข้าไปถามเอ็มดีว่า
พี่ต้องการกำไรส่งให้ฝรั่งเท่าไหร่
แล้วที่เหลือจากนั้น
เอามันมาพัฒนาประเทศบ้าง เช่น
จ้างเด็กๆมาเรียนรู้งาน จะได้มีคนทำงานได้มากขึ้น
หรือ จะจ้างคนเก่งๆมาพัฒนาอะไรใหม่ๆให้เกิดขึ้น
เพราะอย่างน้อย มันก็มาจากเงินภาษีของคนประเทศนี้
มันก็ควรกลับไปสู่คนประเทศนี้ ไม่ช่ายฝรั่ง

เอ็มดี อึ้งไปเลย 555

นั่นเป็นตัวอย่างขั้นต้น


ขั้นต่อมาคือผมคิดว่า
เราน่าจะทำอะไรให้ประเทศนี้ได้อีกบ้าง
ผมผลักดัน และนำเสนอ
ให้บริษัทรับงานจากต่างประเทศเป็นหลัก
นั่นหมายความว่า
รายได้ของพนักงานในบริษัทก็คือเงินเข้าประเทศ
ก็ทำให้ผลิตมวลรวมของประเทศดีขึ้น

แล้วลองคิดว่า
ถ้าทุกคนที่ทำงาน รับเงินจากต่างประเทศ
ประเทศเราจะพัฒนาขึ้นแบบไหน


ฟังดูแปลกๆไม๊

แต่ผมคิดว่า
ประเทศนี้จะพัฒนากว่านี้
ถ้าทุกคนเลือกจะพัฒนาตัวเองก่อน

แล้วถึงตอนนั้น ถ้าทุกคนพัฒนาแล้ว
สำนึกหลายๆอย่างอาจจะตามมาก็ได้
ไม่ต้องเสียเวลามานั่งประท้วง
ที่ต้นทุนสูงกันทุกฝ่าย
แล้วท้ายที่สุดก็มีแต่คนแพ้

Monday, October 13, 2008

Kyushu You & Me



วันเสาร์
ระหว่างให้ถึงเวลานัดทานข้าวกับเพื่อนๆ
มีโอกาสโฉบผ่านไปงานหนังสือหนึ่งชั่วโมง
(วันหลังจะตั้งใจไปเดินใหม่)

ได้หนังสือมาสองเล่ม
เล่มแรกคือ ภู-มี-ศาสตร์
ของบินหลา สันกาลาคีรี
เรื่องราวว่าด้วยภูเขา
ยังไม่ได้เริ่มอ่าน
แต่แค่บอกว่าเขียนถึงเรื่องภูเขา
และยิ่งเขียนด้วยบินหลา
คาดว่าผมคงต้องชอบแน่เลย
เพราะผมชอบภูเขาเป็นหลัก
งานเขียนของบินหลาก็ไม่เคยผิดหวัง

อ่านจบแล้วจะมาเขียนถึงอีกครั้ง


ส่วนเล่มที่สอง Kyushu You&Me
ของ ปาลิดา พิมพะกร

งานเขียนของน้องสาว ที่รู้จักกัน
วันก่อนมีโอกาสเจอคนเขียนโดยบังเอิญที่สถานีรถไฟฟ้า
เธอบอกว่ากำลังจะออกหนังสือเล่มที่สอง
เป็นเรื่องเกี่ยวกับคิวชู

หนังสือเล่มแรกของเธอคือ เกียวโต ไดอะรี่
เล่มแรกพวกเราแสดงความคิดเห็นกันว่า
เธอคงเกร็งๆกับหนังสือเล่มแรก
เลยออกมาในแนวจริงจัง
ผิดกับบุคลิกตัวหนังสือของเธอที่พวกเราคุ้นชิ้ร

มาถึงเล่มนี้ เธอผ่อนคลายมากขึ้น
มีความเป็นหนังสือท่องเที่ยวมากกว่าเล่มแรก
หนังสือสวย รูปถ่ายก็สวย

แนะนำ แนะนำ

Thursday, October 02, 2008

หลังงานเลี้ยง

บรรยากาศหลังงานรื่นเริง
เป็นบรรยากาศ
ที่อบอวลไปด้วยอารมณ์บางอย่าง
ไม่เชิงผ่อนคลาย
ไม่เชิงเหงา
ไม่เชิงเศร้า
ไม่ใช่หมดหวัง
และไม่ใช่แค่การรอคอยความสุขครั้งหน้า

เป็นบรรยากาศที่บรรยายยาก
มีบุคลิกเฉพาะตัว
จำได้ว่าตั้งแต่เด็ก
ผมรอคอยช่วงเวลานี้ ของทุกๆปี

มันเป็นเวลาพิเศษ
ซึ่งทำให้เราเรียนรู้ได้ว่า
แล้วความสุขก็ผ่านไป
อย่าไปอาลัยอาวรณ์
ความทุกข์ก็เช่นกัน
เข้ามาแล้วก็ต้องผ่านไป